ประกันภัยสุดแปลกที่ใครจะคิดว่ามีอยู่จริงในไทย

เมื่อพูดถึงประกัน หลายคนคงนึกถึง “ประกันชีวิต” หรือ “ประกันภัย” ที่ดูแลในเรื่องของสุขภาพเป็นหลัก
แต่รู้หรือไม่ ? ว่าในปัจจุบัน ประกันภัย มีความหลากหลายรูปแบบ และแบ่งประเภทเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมปัญหาในด้านต่าง ๆ ซึ่งถ้าได้ยินแล้ว หลายคนอาจพูดออกมาเลยว่า “แบบนี้ก็มีด้วยหรอ?”
มาดูกันว่า จะมีประกันภัย แพคเกจไหนบ้าง ที่แปลก! แต่กลับมีอยู่จริงในไทย !

1. ประกันภัยโรคออฟฟิศซินโดรม

“ออฟฟิศซินโดรม” โรคยอดฮิตของบรรดาพนักงานออฟฟิศ เนื่องจากต้องนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่ค่อยได้ลุก หรือเปลี่ยนอิริยาบถ
โดยจากสถิติพบว่ามีคนไทยกว่า 80% ที่ทำงานออฟฟิศมักเป็นโรคนี้ จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ สะบัก อาจลุกลามเป็นอาการปวดแบบเรื้อรังและอาจมีอาการอื่นๆ
แทรกซ้อนมาด้วย เช่น ชา วูบ หูอื้อ หรือมึนงง บริษัทประกันภัยจึงได้มองเห็นโอกาส และออกประกันภัยเฉพาะเจาะจงโรคนี้ โดยมีรายละเอียดครอบคลุมโรคและอาการ
ดังนี้ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ความดันสูง และอาการวิงเวียนศีรษะ

2. ประกันภัยอิสรภาพ

เป็นประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองในการขอประกันตัว หรือปล่อยตัวชั่วคราวแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย และเพิ่มโอกาสให้สามารถนำหนังสือรับรองความรับผิดชอบ
ของบริษัทประกันภัยไปเป็นหลักประกันวางที่ศาลได้ โดยไม่ต้องหาหลักทรัพย์อื่นมาวางเป็นหลักประกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพก่อนทำความผิด สำหรับคนทั่วไป ที่ประสงค์จะมีหลักประกันในการขอประกันตัวล่วงหน้า
เพราะมีความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะกระทำความผิดทางอาญาในฐานความผิดจากการประมาท

รูปแบบที่ 2 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด สำหรับคนที่ตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยแล้ว ซึ่งเป็นการคุ้มครองเมื่อถูกดำเนินคดี
และถูกควบคุมตัวในคดีอาญาทุกความผิด และต้องการหลักประกันเพื่อขอประกันตัว

3. ประกันภัยโรคจากยุง

โรคร้ายจากยุง อันตรายกว่าที่คิดเยอะ เนื่องจากมีคนจำนวนมาก ที่เกิดเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากการถูกยุงกัด และเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากยุง
ซึ่งประกันภัยนี้ จะครอบคลุมการเจ็บป่วยถึง 5 โรคจากยุง คือ โรคไข้เลือดออกเดงกี โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา
และโรคไข้จับสั่นหรือโรคไข้ป่า ซึ่งการคุ้มครองจะคล้ายกับประกันสุขภาพทั่วไป โดยเป็นการชดเชยรายวันหรือชดเชยเพื่อปลอบขวัญเมื่อต้องเข้ารักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน
หรือก็คือ การที่ต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

4. ประกันคุ้มครองอีเวนท์

ข้ามฟากมายังภาคของธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างอุตสาหกรรมอีเวนท์ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019
ต้นตอของโรคโควิด-19 ที่ขยายเป็นวงกว้างช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลต้องเร่งควบคุมเพื่อไม่ให้ขยายวงกว้าง ซึ่งจะกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ก่อให้เกิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการประกาศเคอร์ฟิว แน่นอนว่ากิจการและกิจกรรมต่างๆ ต้องหยุดชะงักไป

สะท้อนภาพผลกระทบที่รุนแรงต่อธุรกิจอีเวนท์จาก “เสริมคุณ คุณาวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร
ประเมินว่าโควิด-19 เป็นวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ชัดเจนที่สุดในเดือนมีนาคม 2563

งานทั้งหมดถูกเลื่อนและยกเลิกเกือบ 100% โดยภาพรวมอีเวนท์ช่วง Q1-Q2 มูลค่าเสียหายราว 50-60% จากภาพรวมในปัจจุบันที่อยู่ราว 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท
อีกทั้งคาดว่าบริษัทออร์แกไนเซอร์ต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก 

รู้หรือไม่ว่าในประเทศไทยมีการประกันที่รองรับความเสี่ยงของธุรกิจอีเวนท์ด้วย นั่นคือ “ประกันคุ้มครองอีเวนท์” ของชับบ์ (Chubb) บริษัทประกันภัยทรัพย์สินและประกันภัยความรับผิด
ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีเครือข่ายกว่า 54 ประเทศ รวมถึงไทยด้วย โดยครอบคลุมจากความเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ การที่ศิลปินไม่ขึ้นปรากฏตัว การโจมตีโดยผู้ก่อการร้าย
สภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ ภัยพิบัติในประเทศ ช่วงไว้อาลัยในประเทศ กรณีเกิดโรคติดต่อ หรือภัยอันตรายอื่นๆ เช่น ความรุนแรงทางการเมือง ฯลฯ

ทั้งนี้การคุ้มครองค่อนข้างกว้าง ทั้งในแง่ของรายได้รวมจากยอดขายบัตรเข้าชม ค่าเข้าร่วมงาน รายได้จากผู้สนับสนุน รายได้จากการโฆษณา รวมไปถึงต้นทุน ค่าใช้จ่าย
และความรับผิดต่ออาการบาดเจ็บของผู้ร่วมงาน ผู้เข้างาน ผู้ชม หรือบุคคลอื่นๆ ทั้งความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลอื่น ทั้งนี้อีเวนท์ที่เกี่ยวเนื่องที่จะได้รับความคุ้มครอง
ได้แก่ งานคาร์นิวัล อีเวนท์สำหรับชุมชน คอนเสิร์ต การประชุม นิทรรศการ ไมซ์ เทศกาลดนตรี งานแต่งงาน การผลิตละคร อีเวนท์กีฬา เปิดตัวผลิตภัณฑ์ งานปาร์ตี้ เป็นต้น

5. ประกันภัยงานแต่งงาน

ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดมาตรการล็อกดาวน์ กิจกรรมหรืองานต่างๆ ต้องเลื่อนออกไป ไม่สามารถจัดขึ้นได้
รวมถึงงานมงคลอย่าง “งานแต่งงาน” ด้วย จึงมีประกันภัยที่รองรับความเสี่ยงของงานแต่งงานเกิดขึ้น ซึ่งคุ้มครองงานแต่งงานที่ถูกยกเลิก เลื่อน
ย้ายสถานที่จัดงาน หรือมีเหตุต่างๆ ที่ทำให้ต้องหยุดชะงักการจัดงานในช่วงระยะเวลา
30 วันก่อนการจัดงานแต่งงาน โดยบริษัทที่เป็นเจ้าของประกันภัยนี้
จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้สำหรับค่ามัดจำ หรือค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเรียกคืนหรือเปลี่ยนแปลงได้

6. ประกันภัยความซื่อสัตย์ของลูกจ้าง

ประกันภัยรูปแบบนี้ เป็นประกันภัยที่รองรับกลุ่มลูกค้าองค์กรทั้งองค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงธนาคารด้วย เป็นกรมธรรม์ที่คุ้มครอง
และชดเชยความเสียหายทางการเงินที่เกิดขึ้นแก่นายจ้าง กรณีที่ลูกจ้างทุจริตหรือยักยอกทรัพย์ต่าง ๆ ของนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นการทำคนเดียว หรือมีผู้สมรู้ร่วมคิดก็ตาม

7. ประกันภัยผู้เล่นกอล์ฟ

เป็นประกันภัยที่นักกอล์ฟมืออาชีพจำนวนไม่น้อยมักจะทำประกันรูปแบบนี้ไว้ เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยในทุกๆครั้งที่ฝึกซ้อม ออกรอบ
หรือแม้กระทั่งตอนแข่งขัน ซึ่งประกันนี้จะคุ้มครองตั้งแต่ความรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ความบาดเจ็บทางร่างกายระหว่างฝึกซ้อมหรือแข่งขัน
อุปกรณ์การเล่นกอล์ฟ รวมถึงรางวัลพิเศษ Hole in One ด้วย

 

8. ประกันการจลาจล

เมื่อปี พ.ศ.2553 ไทยกลัวที่จะสูญเสียนักท่องเที่ยวจากเหตุการณ์ทางการเมือง การจลาจล และการประท้วง จึงได้มีการเสนอเงินเป็นจำนวน 10,000 เหรียญ
ให้ทุกคนที่สูญเสียหรือเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบนั้นๆ และยังได้เสนอเงินแก่นักท่องเที่ยวจำนวน 100 เหรียญ/วัน สำหรับการเดินทางที่อาจล่าช้าจากการประท้วง

 

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/895301