ประกันภัยเกี่ยวกับบุคคล

   การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance หรือ PA) ใช้สำหรับการประกันภัยเฉพาะบุคคลคนเดียวเท่านั้น โดยบริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเกิดความสูญเสียทางร่างกาย (บาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ พิการ เสียชีวิต) จากอุบัติเหตุเท่านั้น หากเกิดจากการเจ็บป่วยเป็นโรคจะไม่ได้รับความคุ้มครอง

การจ่ายผลประโยชน์

กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล จะจ่ายเงินชดเชยให้กับการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ ดังนี้

1. การเสียชีวิต กรณีที่ผู้เอาประกันภัยได้รับบาดเจ็บเป็นเหตุให้เสียชีวิตภายใน 180 วันนับแต่วันเกิดอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องรักษาตัวติดต่อกัน โดยเป็นคนไข้ในของโรงพยาบาลและเสียชีวิตเพราะเหตุบาดเจ็บนั้น ผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินชดเชยให้ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

2. การสูญเสียอวัยวะและสายตา กรณีความบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความสูญเสีย ภายใน 180 วันนับแต่วันเกิดอุบัติเหตุ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าทดแทนให้ ดังนี้

  • 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับการสูญเสียมือสองข้าง ตั้งแต่ข้อมือ หรือเท้าสองข้าง ตั้งแต่ข้อเท้า หรือสายตาสองข้าง
  • 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับการสูญเสียมือหนึ่งข้าง ตั้งแต่ข้อมือ และเท้าหนึ่งข้าง ตั้งแต่ข้อเท้า
  • 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับการสูญเสียมือหนึ่งข้าง ตั้งแต่ข้อมือ และสายตาหนึ่งข้าง
  • 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับการสูญเสียเท้าหนึ่งข้าง ตั้งแต่ข้อเท้า และสายตาหนึ่งข้าง
  • 50% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับการสูญเสียมือหนึ่งข้าง ตั้งแต่ข้อมือ
  • 50% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับการสูญเสียเท้าหนึ่งข้าง ตั้งแต่ข้อเท้าลงไป
  • 50% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับการสูญเสียสายตาหนึ่งข้าง โดยที่การสูญเสียสายตาหรือเท้า จากการถูกตัดออก
  • หรือใช้การไม่ได้โดยสิ้นเชิงถาวร และการสูญเสียสายตา หมายถึง ตาบอดสนิทและไม่มีทางรักษาให้หายได้ตลอดไป

 

3. ทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร กรณีความบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้เอาประกันภัยทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ภายใน 180 วันนับแต่วันเกิดอุบัติเหตุ และทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรนั้นได้เป็นติดต่อกันไม่น้อยกว่า 12 เดือน ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าทดแทนให้ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

4. ทุพพลภาพสิ้นเชิงชั่วคราว กรณีอาการบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้เอาประกันภัยทุพพลภาพสิ้นเชิงชั่วคราวภายใน 180 วันนับแต่วันเกิดอุบัติเหตุ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าทดแทนให้เป็นระยะ ตลอดเวลาที่ทุพพลภาพอยู่ ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

5. ทุพพลภาพบางส่วนชั่วคราว กรณีความบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้เอาประกันภัยทุพพลภาพบางส่วนชั่วคราวภายใน 180 วันนับแต่วันเกิดอุบัติเหตุ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าทดแทนให้เป็นระยะ ตลอดเวลาที่ทุพพลภาพบางส่วนชั่วคราวอยู่ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

6. การรักษาพยาบาล ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับค่ารักษาพยาบาล ค่าโรงพยาบาล และค่าพยาบาลพิเศษ ตามจำนวนจริงที่เกิดขึ้นภายใน 52 สัปดาห์นับตั้งแต่วันเกิดอุบัติเหตุ แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

 

ข้อยกเว้นการจ่ายผลประโยชน์ ไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ ดังนี้

1. การกระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุราหรือยาเสพติด
2. การฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายร่างกายตนเอง
3. การแท้งลูก
4. การสงคราม การปฏิวัติ การกบฏ
5. การจลาจล การนัดหยุดงาน การที่ประชาชนก่อความวุ่นวายลุกฮือต่อต้านรัฐบาล
6. การแผ่รังสีหรือกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ อาวุธนิวเคลียร์
7. การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย เช่น การดำน้ำ การโดดร่ม ชกมวย เล่นสกี แข่งรถ แข่งเรือ แข่งม้า เล่นสเก็ต และการล่าสัตว์ เป็นต้น
8. การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
9. การโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการโดยสายการบินพาณิชย์ เช่น เฮลิคอปเตอร์
10. ขณะที่เข้าร่วมการทะเลาะวิวาท ก่ออาชญากรรม หรือหลบหนีการจับกุม
11. ขณะที่เข้าปราบปรามหรือปฏิบัติการทางสงคราม หากผู้เอาประกันภัยเป็นทหาร ตำรวจ หรืออาสาสมัคร



การขอขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมนั้น สามารถทำได้เพียง 5 กรณีเท่านั้น ได้แก่

1.การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
2.การจลาจล การนัดหยุดงาน
3.การสงคราม
4.การโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการโดยสายการบินพาณิชย์
5.การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย



กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุนั้นเป็นกรมธรรม์มาตรฐานเหมือนกันทุกบริษัท แต่ค่าเบี้ยประกันภัยจะแตกต่างกันไปตามแบบของความคุ้มครองที่เลือกซื้อ ดังนั้นผู้ที่ต้องการซื้อประกันภัย ควรพิจารณาประเด็นต่างๆ ก่อนตัดสินใจ ดังนี้

1.พิจารณาแบบความคุ้มครองระหว่าง แบบ อบ. 1 และ อบ. 2
โดย แบบ อบ. 2 จะมีความคุ้มครองที่กว้างกว่า แบบ อบ.1 และเหมาะกับผู้ทำงานด้านช่าง หรืองานฝีมือที่เกี่ยวข้องกับการใช้นิ้ว

2.พิจารณาจำนวนเงินเอาประกันภัย
การเลือกจำนวนวงเงินเอาประกันภัยสามารถเลือกได้ตามความพอใจ แต่ควรเหมาะสมกับรายได้ โดยปกติไม่ควรเกิน 100 เท่าของเงินเดือนที่ได้รับในปัจจุบัน หรือประมาณ 10 เท่าของรายได้ต่อปี

3.พิจารณาเบี้ยประกันภัย
โดยเปรียบเทียบเบี้ยประกันภัยระหว่างบริษัทประกันภัยหลายๆ บริษัท

4.พิจารณาฐานะทางการเงิน
และการบริการของบริษัทประกันภัย ควรพิจารณาถึงความมั่นคงทางการเงินของบริษัทผู้รับประกันภัย ตลอดจนชื่อเสียงด้านการบริการ เพื่อให้การซื้อประกันภัยได้รับความมั่นใจสูงสุด