กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย
ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัย พ.ศ. 2535 โดยมีบทบาทและหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถ
โดยจ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น ในกรณีที่ผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย หรือรถคันที่เกิดเหตุไม่มีประกันภัย พ.ร.บ.
หรือไม่สามารถเรียกร้องจากที่ใดได้ เช่น รถชนแล้วหนี เจ้าของรถที่ไม่มี พ.ร.บ. ไม่จ่ายค่าเสียหาย เป็นต้น และเมื่อกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย
ได้ดำเนินการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยแล้ว กองทุนฯ จะดำเนินการไล่เบี้ยเรียกคืนค่าเสียหายเบื้องต้นคืนจากเจ้าของรถหรือ
ผู้กระทำความผิดในลำดับต่อไป
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ช่วยคุ้มครองกรณีใดบ้าง
มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถโดยจ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นหากผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกัน
หรือไม่สามารถเรียกร้องจากที่ใดได้ จากกรณีดังต่อไปนี้
- รถคันที่ก่อเหตุไม่มี พ.ร.บ. หรือไม่มีประกัน และเจ้าของไม่ยอมจ่ายค่าเสียหาย
- รถคันที่ก่อเหตุเป็นรถที่ถูกขโมยมา และได้มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้แล้ว
- ไม่มีผู้แสดงความเป็นเจ้าของรถ
- กรณีชนแล้วหนี
- บริษัทประกันไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น หรือจ่ายไม่ครบ
- ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากรถที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัย เช่น รถของหน่วยราชการ
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย คุ้มครองเท่าไร
หลังจากที่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยแล้ว หลังจากนั้นทางหน่วยงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย
จะดำเนินการไล่เบี้ยเรียกคืนจากผู้กระทำความผิดต่อไป โดยสิ่งที่กองทุนจะช่วยได้มีดังนี้
- ค่ารักษาตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท
- หากเสียชีวิตจะชดเชยเป็นค่าปลงศพ 35,000 บาท
- ชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ และทุพพลภาพ 35,000 บาท
- หากบาดเจ็บ และสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตในเวลาต่อมา จะชดเชยรวมไม่เกิน 65,000 บาท
ดังนั้น หากคุณประสบอุบัติเหตุที่ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันได้ สามารถยื่นคำร้องต่อกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้
เพื่อเรียกร้องความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด